วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กล้วยตานีดำ

กล้วยตานีดำ




ผู้อ่านจำนวนมากสงสัยว่า "กล้วยตานีดำ" มีความแตกต่างกับกล้วยตานีธรรมดาทั่วไปอย่างไร และทำไมจึงเรียกว่า "กล้วยตานีดำ" ผลรับประทานได้หรือไม่ ซึ่งความจริงแล้ว "กล้วยตานีดำ" ก็คือกล้วยตานีทั่วไปนั่นเอง เพียงแต่ลำต้นเป็นสีดำ ก้านใบและเส้นกลางใบเป็นสีดำด้วย จึงถูกเรียกชื่อว่า "กล้วยตานีดำ" ส่วนผลมีลักษณะเหมือนกับผลกล้วยตานีทั่วไปทุกอย่าง เวลาลำต้นเป็นสีดำสนิทจะดูแปลกตาและน่าชมยิ่ง ส่วนใหญ่จะนิยมปลูกเพื่ออวดความแปลกและหายากเท่านั้น

กล้วยตานีดำ ไม่ทราบแหล่งกำเนิดแน่นอน มีชื่อวิทยาศาสตร์เหมือนกล้วยตานีทั่วไปคือ MUSA BALBISIANA COLLA ลำต้นเทียมสูง 3.5-4 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นโตเต็มที่ประมาณ 20 ซม. ลำต้นหรือกาบหุ้มลำต้นเป็นสีดำอมม่วง ไม่มีนวล ก้านใบ เส้นกลางใบเป็นสีดำอมม่วง ไม่มีร่อง (กล้วยตานีทั่วไปเป็นสีเขียว) ใบมีขนาดใหญ่ สีเขียวสด

ก้านช่อดอก เป็นสีดำอมม่วง ไม่มีขน ใบประดับปลีเป็นรูปค่อนข้างป้อม มีความกว้างมาก ปลายมน ด้านบนสีแดงอมม่วง มีนวล ด้านล่างสีแดงเข้มสดใส เมื่อใบประดับกางขึ้นจะตั้งฉากกับช่อดอก ไม่ม้วนหรืองอ ใบประดับแต่ละใบจะซ้อนกันลึก เครือหนึ่งมีประมาณ 8 หวี หวีหนึ่งมี 10-14 ผล

ผล รูปทรงป้อมขนาดใหญ่ หรืออ้วน ผลมีเหลี่ยมชัดเจน ลักษณะคล้ายกับผลกล้วยหักมุก แต่ปลายผลจะทู่กว่า ก้านผลยาว เมื่อผลสุกเป็นสีเหลือง เนื้อรสหวาน มีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีขนาดใหญ่ ซึ่งแม้ผลสุก ของ "กล้วยตานีดำ" หรือ กล้วยตานีทั่วไปจะมีรสหวานหอม แต่ไม่นิยมรับประทาน เนื่องจากมีเมล็ดมากนั่นเอง ติดเครือและผลปีละครั้ง ขยายพันธุ์ด้วยหน่อ ไม่นิยมเพาะด้วยเมล็ด เพราะโตช้า

ประโยชน์ ผลดิบที่เมล็ดยังไม่แก่หรือแข็งปรุงเป็นส้มตำ เรียกว่า "ตำกล้วยตานี" ผลสุกกินสดได้ หยวก ปลี ทำส้มตำได้เช่นกัน หรือเอาไปแกงใส่ไก่ ปลา ผัด และลาบ รสชาติอร่อยมาก ทางยา ใบแห้งต้มน้ำอาบรวมกับใบมะขามแก้ผดผื่นคัน ผลอ่อนฝานเป็นแว่นๆ ตากแห้งบดกินแก้ท้องเสีย ยางใช้ ห้ามเลือด การใช้สอยอื่นๆ กาบลำต้นใช้ทำเชือก ต้นแกะสลักลวดลาย ใบห่อขนม ทำบายศรีในพิธีต่างๆครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น